ข่าวประชาสัมพันธ์
เริ่ม…ติดตามนิเทศงานด้าน ICT ทุกมิติ จังหวัดสกลนคร

เริ่ม…ติดตามนิเทศงานด้าน ICT ทุกมิติ จังหวัดสกลนคร

วันที่ 19 สิงหาคม 2567  ดร.สุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นางสิริลักษณ์ น้อยเคียง
ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ นายวรวุฒิ อ้อยหวาน ผู้อำนวยการกลุ่มระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามนิเทศงานระบบส่งเสริมการผลิตแบบแปลงใหญ่ การขึ้นทะเบียนปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและการจัดทำผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล ระบบการจัดเก็บและรายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชระดับตําบล (รต.) ระบบข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช รวมไปถึงการรับปัญหา
และข้อเสนอแนะพัฒนางานด้าน ICT ทุกมิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตร
และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่เกษตรกร ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร โดยมีนายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร จำนวน 20 ราย เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นการใช้งานระบบสารสนเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร การนำเสนอผลการดำเนินการ และการตรวจสอบปัญหาการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตภายในสำนักงานโดยผู้เชี่ยวชาญ
จากบริษัทเอกชนที่บำรุงรักษาระบบอินเทอร์เน็ตให้กรมส่งเสริมการเกษตรที่ร่วมติดตามในครั้งนี้ด้วย

ในช่วงบ่าย คณะฯ เดินทางไปติดตามนิเทศฯ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โดยมีนางสาวจุรีรัตน์ ภาวงศ์
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอกุสุมาลย์ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอกุสุมาลย์ จำนวน 22 ราย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรอำเภอกุสุมาลย์ เพื่อรับฟังปัญหา และชี้แจงแนวทางการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดูแล

ผลการติดตามนิเทศ พบว่า แนวทางการขับเคลื่อนแอปพลิเคชัน Farmbook และระบบวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล (Geoplots)
มีปัญหาในบางชุมชน คือ ค่านิยมทางชาติพันธุ์ที่มีผลต่อการใช้งานเทคโนโลยี แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอได้แก้ไขโดยการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวให้แก่อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ลงไปช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำให้พื้นที่ภาพรวมของทั้งจังหวัดใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพข้อมูลเป็นปัจจุบันมากขึ้น

Skip to content